- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์และเทคนิคการผ่าตัดรักษา เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กหรือการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery: MIS) เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ช่วยให้การผ่าตัดที่ซับซ้อนเป็นเรื่องง่าย ทางโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ และโรงพยาบาลวัฒโนสถ ผสานกำลังชูจุดเด่นของการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS) เพื่อดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โรคผู้หญิงกับการผ่าตัด
สำหรับผู้หญิงแนวทางการเลือกเทคนิคการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ผู้หญิงกังวล โรคที่พบบ่อยและสามารถผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก ได้แก่ เนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซีสต์ในรังไข่ ฯลฯ สำหรับ “เนื้องอกในมดลูก” พบบ่อยในผู้หญิงอายุระหว่าง 30-40 ปี พบได้ 3-4 คนใน 10 คน และ 3-4 คน มี 30 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องรับการผ่าตัดเพื่อรักษา และไม่ทราบสาเหตุในการเกิด สามารถรักษาได้โดยเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กทางนรีเวช (Minimally Invasive Surgery)
พญ.หยิงฉี หวัง สูติ-นรีแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก MIS เป็นวิธีการผ่าตัด โดยการเจาะรูเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 5-10 มม. จำนวน 3-5 รู (ขึ้นอยู่กับโรคที่กำลังรักษา) ในบริเวณผิวหนังที่ต้องการจะผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์และกล้องขนาดเล็ก พร้อมบันทึกภาพและส่งมายังจอรับซึ่งทำหน้าที่แทนตาของศัลยแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ให้ประสิทธิภาพการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดมาตรฐานเปิดแผลใหญ่ แต่จะมีความคมชัดมากขึ้นเพราะกล้องมีกำลังขยายสูง สามารถเข้าไปผ่าตัดในจุดเล็กๆ ที่มือแพทย์เข้าไม่ถึง ลดการกระทบกระเทือนอวัยวะภายใน จึงช่วยลดผลแทรกซ้อน ทำให้การผ่าตัดสะดวก ลดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดทำให้ระยะพักฟื้นของผู้ป่วยน้อยลง โรงพยาบาลกรุงเทพให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าและการให้บริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสูงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ
กระดูกและข้อกับการผ่าตัด
นพ.พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ การผ่าตัดผ่านกล้องและเวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) รพ.กรุงเทพ ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) กล่าวว่า อาการบาดเจ็บบริเวณข้อ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า มักสร้างปัญหารุนแรง ใช้เวลารักษานานหลายเดือน สาเหตุการบาดเจ็บบริเวณข้อไหล่ อาจเป็นได้ตั้งแต่บาดเจ็บกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ เส้นเอ็นหัวไหล่ หรือกระดูกและข้อไหล่ นอกจากนี้สาเหตุการบาดเจ็บที่หัวเข่าที่พบบ่อย คือ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด มักเกิดจากการเล่นกีฬา การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการปะทะ เกิดการบิดของเข่า หรือเกิดการกระแทกแล้วเอ็นเข่าฉีกขาด ขณะที่การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ มักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ตึงไม่ยืดหยุ่นหรือไม่มีความแข็งแรง จนทำให้เข่าเกิดการบาดเจ็บแบบสะสม จากสถิติกว่า 80% มักเป็นเอ็นไขว้หน้าเข่า ACL(Anterior Cruciate Ligament) ฉีก เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกนั้นมีแรงตึงในตัวเอ็น เมื่อฉีกไป แต่ละปลายของเอ็นจะหดตัวห่างจากกันไปเรื่อยๆ
ปัจจุบันศัลยแพทย์เลือกใช้เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก เพื่อรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก หมอนรองกระดูกเข่า ฯลฯ เนื่องจากได้ผลการรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดี แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย สามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นตัวได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกหรือวันที่สองหลังผ่าตัด สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬาแพทย์จะพยายามรักษาและฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้ดีใกล้เคียงเดิมให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด
หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองกับการผ่าตัด
นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า หนึ่งในโรคหัวใจที่พบได้บ่อยคือ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (Aorta) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย เกิดการโป่งพองขยายขนาดจนใหญ่กว่าปกติขึ้น (Aortic Aneurysm) ซึ่งเมื่อมีการโป่งขยายจนถึงระดับหนึ่งก็จะแตกทำให้เสียเลือดจำนวนมากกระทันหันจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ในทุกระดับของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่ในช่องอกหรือช่องท้อง ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด เทคโนโลยีการผ่าตัดในปัจจุบันทำได้ดีขึ้น
ปัจจุบันการผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าโป่งพองมี 2 รูปแบบ คือการผ่าตัดเปิด และการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดมีขดลวดถ่างขยายผ่านสายสวน (Endovascular Aortic Aneurysm Repair) ซึ่งเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าโป่งพองเนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่า และอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลต่ำกว่า ผลการรักษาระยะยาวเทียบเท่ากับการผ่าตัดเปิด ที่สำคัญการผ่าตัดแผลเล็ก ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อัตราการเสียชีวิตต่ำ อย่างไรก็ตามการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งที่คนไข้ควรให้ความสำคัญ ควรงดหรือหยุดสูบบุหรี่ทันที ช่วยลดการแตกของหลอดเลือดได้ถึง 4 เท่า พร้อมกันนี้ควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะ ๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ แต่ไม่ควรออกกำลังหนัก ๆ ที่สำคัญคือกเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทำให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที การมาพบแพทย์ตรวจร่างกายแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กยังสามารถรักษาโรคหัวใจทางด้านอื่น ๆ ได้ เช่น การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ เป็นต้น
มะเร็งลำไส้ใหญ่กับการผ่าตัด
นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา แพทย์ศัลยศาสตร์ด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ อาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับคนไข้ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงนิสัยการขับถ่ายที่ผิดปกติ มีเลือดปนอุจจาระ ท้องเสียสลับท้องผูก รู้สึกอุจจาระไม่สุด ลักษณะของอุจจาระที่เปลี่ยนไป เช่น มีขนาดเล็กลงกว่าปกติ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีการรักษาร่วมกันหลายวิธี คือ การผ่าตัด การใช้รังสีรักษา เคมีบำบัด โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวางแผนการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) ศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 4 - 5 รู ขนาด 6 - 8 มิลลิเมตร และมีแผลใหญ่สุด 1 รู ขนาดไม่เกิน 4 ซม. หลังจากนั้นจะใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ได้อย่างชัดเจน จำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก เสียเลือดลดลง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีและเหมาะสมกับคนไข้แต่ละบุคคล
หัวใจสำคัญของการผ่าตัดผ่านกล้อง
สำหรับการผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเพื่อมารักษาผู้ป่วยได้หลากหลายอวัยวะ ตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า หัวใจสำคัญของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก คนไข้เจ็บตัวน้อย เสียเลือดน้อย ลดอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อย มีแผลเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลกว้างอย่างเห็นได้ชัด หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแผลน้อยกว่า เนื่องจากเนื้อเยื่อได้รับความบาดเจ็บน้อยกว่า ลดการเกิดผังผืด และลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อได้มาก ซึ่งการผ่าตัดรักษาผ่านกล้อง สามารถทำได้ในหลายอวัยวะของระบบร่างกาย เช่น ระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ ได้แก่ ข้อไหล่ กระดูกสันหลัง ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า ระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ได้แก่ มดลูก รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก ระบบสืบพันธุ์เพศชาย ได้แก่ ต่อมลูกหมาก ทางเดินปัสสาวะ ระบบหลอดเลือดและการไหลเวียนโลหิต เช่น หลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ
ที่มา : Bangkok Hospital
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น