PET-CT : วินิจฉัยโรค

AI : เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยรักษาโรคมะเร็ง



            เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotic) และ AI (artificial intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความล้ำสมัยได้ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรค อย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรักษาโรคยากๆและซับซ้อนอย่างมะเร็งที่กำลังเป็นปัญหาของคนทั่วโลก ก่อนหน้านี้เทคโนโลยีเหล่านี้ซ่อนอยู่ในศาสตร์ที่ค้นคว้า และผลิตเครื่องมือขนาดเล็กมากที่เรียกว่า การแพทย์นาโน หรือ Nanomedicine ที่ใช้หลักการของการพัฒนาเครื่องมือหรือยาอนุภาคเล็กไปทำปฏิกิริยาโดยตรงกับเป้าหมาย เช่น เซลล์ เนื้อเยื่อ ฯลฯ
            5 ปีก่อน หลังจากนักวิจัยของ National Center for Nanoscience and Technology (NCNST) ได้ศึกษาการปิดช่องทางการส่งเลือดไปยังเนื้องอกโดยใช้ตัวนำพาเพื่อทำให้เลือดบริเวณเนื้องอกแข็งตัว ต่อมา Arizona State University (ASU สหรัฐอเมริกา และ National Center for Nanoscience and Technology (NCNST) ประเทศจีนได้ร่วมกันพัฒนาการแพทย์นาโน โดยออกแบบตัวนำพาให้กลายเป็นหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วที่ สามารถตั้งโปรแกรม และปฏิบัติหน้าที่ในการ ทำลายเนื้อเยื่อมะเร็งที่อวัยวะเป้าหมาย แต่ไม่ทำลายเซลล์ดี
            Hao Yan ผู้อำนวยการศูนย์ Biodesign Center for Molecular Design and Biomimetics, ASU อธิบายว่า เทคโนโลยีนี้ พัฒนาขึ้นโดยการติดเอนไซม์ทรอมบิน (Thrombin) ซึ่งอยู่ในน้ำเลือดโดยทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายของคนเรา
            “หลักการคือเราจะส่งหุ่นยนต์จิ๋วที่ได้ติดเอนไซม์ทรอมบินไว้บนผิวแต่ละตัวเข้าไปในกระแสเลือด โดยหุ่นยนต์จิ๋วนี้จะถูกตั้งโปรแกรมให้มองหาโปรตีนที่ชื่อว่านิวคลีโอลิน (Nucleolin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ในเซลล์บุหลอดเลือดของเซลล์มะเร็งเท่านั้นไม่พบในเซลล์ดี” 

            Yan บอกว่า เอนไซม์ทรอมบินบนหุ่นยนต์จิ๋วจะทำให้เลือดในหลอดเลือดจับตัวเป็นก้อน ทำให้ไม่มีการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเนื้องอก เป็นผลให้เนื้องอกหดตัวและตายในที่สุด ซึ่งเพียงไม่กี่ชั่วโมงหุ่นยนต์จิ๋วจะรวมตัวกันล้อมรอบเนื้องอกและจะเริ่มทำลายเซลล์ เนื้องอกภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่ทำลายเซลล์ที่มีสุขภาพดี
            ความก้าว หน้าของเทคโนโลยีขนาดเล็กที่สุดนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญ ในการพัฒนาการรักษามะเร็งในอนาคต ซึ่งคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปใช้กับมะเร็งได้หลายชนิด ซึ่งก้าวต่อไปของงานวิจัยนี้ ก็คือ การวิจัยในมนุษย์ ซึ่งถ้าเป็นผลสำเร็จ นั่นก็หมายความว่า จะมีเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาช่วยในการรักษามะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกวิธีหนึ่ง
            ไม่เพียงแต่ความร่วมมือของสหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น ในปี ค.ศ.2014 มีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้ได้พัฒนานาโนโรบอต (Nanorobot) ในการรักษามะเร็งซึ่งได้ผลดีและเป็นการรักษาทางเลือกแทนการทำคีโม หรือเคมีบำบัด

            นาโนโรบอตที่ได้รับการพัฒนาครั้งนั้น ชื่อว่า Bacteriobot เป็นการพัฒนาแบคทีเรียที่ไม่มีพิษนำทางหุ่นยนต์เหล่านี้เข้าไปปล่อยยาที่อยู่ในแคปซูลขนาดเล็กที่ตัวเนื้อร้ายโดยตรง แบคทีเรียจะถูกดึงดูดไปหาเซลล์มะเร็งจากสารเคมีที่ปล่อยโดยเซลล์มะเร็งเอง และเมื่อแบคทีเรียไปถึงแคปซูลก็จะปล่อยยาทำลายเนื้องอกโดยที่ไม่มีผลกระทบต่อเซลล์อื่นๆ
            หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชองนัมบอกว่า นาโนโรบอตชนิดนี้ สามารถวินิจฉัยมะเร็งและสามารถต่อสู้มะเร็งได้ด้วยตัวเอง โดยใช้แบคทีเรียในการเคลื่อนที่ จากการทดลองกับหนูพบว่า วิธีนี้ใช้ได้ผลดี ซึ่งเมื่อมีการพัฒนามากขึ้นก็จะสามารถใช้กับคนได้ โดยในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา Bacteriobot สามารถจับแบคทีเรียในมะเร็งที่มีลักษณะเป็นเนื้องอก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้เท่านั้น แต่ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนามากขึ้น ก็น่าจะสามารถรักษามะเร็งชนิดอื่นๆได้เช่นกัน สำหรับเทคโนโลยีนี้ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในมนุษย์
            การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อช่วยรักษามะเร็งยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัท Genentech ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Roche Group สวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมมือกับบริษัท GNS Healthcare พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง โดยบริษัทได้ใช้เทคโนโลยี machine learning วิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยโรคจำนวนมาก และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการค้นหาและระบุส่วนของร่างกาย หรืออวัยวะเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็ง โดยก่อนหน้านี้ Roche ได้ซื้อบริษัท Bina Technologies ซึ่งเป็นบริษัทด้านชีวเทคโนโลยีที่มุ่งไปที่การพัฒนาการรักษาเฉพาะบุคคลโดยใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีการจัดเรียงตัวของยีนด้วย

           ส่วนในประเทศอังกฤษมีการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัด 4 แขน ชื่อ ดาวินชี่ เพื่อใช้ในการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปอด โดยแพทย์สามารถใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดรักษามะเร็งปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์ชนิดนี้อย่างแพร่หลายมากในอังกฤษ และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 2 วัน หลังการผ่าตัด
            ขณะที่ในออสเตรเลียมูลนิธิเพื่อการวิจัยการรักษามะเร็งในเด็ก ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถวิเคราะห์การใช้ยาเดี่ยวและยาผสมในมะเร็งที่มีความเสี่ยงสูงในเด็ก ทำให้สามารถรักษามะเร็งได้อย่างทัน ท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งของเด็กๆลงได้




ที่มา : Thaitath

ความคิดเห็น